มารู้จัก Trigger point กัน

Rehab Your Life
2 min readJan 22, 2020

--

คนไข้หลายๆคนมาพบหมอ เพราะ อาการปวดเฉพาะที่บางตำแหน่ง ทั้ง คอ บ่า หรือ แขนขา คลำได้เป็นก้อน แล้วหมอ ให้การวินิจฉัยว่า มี trigger point ที่กล้ามเนื้อ (myofascial trigger point) หรือเรียกกลุ่มอาการที่เกิดจาก trigger point รวมๆ ว่า myofascial pain syndrome ……….. ทำให้คนไข้หลายๆ คนสงสัยว่า Trigger point คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุจากอะไร รักษาอย่างไร

Trigger Point & Taut Band

Q: Trigger point คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

A: Trigger point เป็นจุดกดเจ็บบนลำกล้ามเนื้อ (taut band) ที่เกิดขึ้นจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อซ้ำๆ ที่ตำแหน่งเดิม จนเกิดภาวะ energy crisis ของกล้ามเนื้อที่ตำแหน่งนั้นๆ เกิดการกระตุ้นต่อเนื่อง ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดแล้วไม่คลายตัว

Trigger point Pathophysiology

Q: Trigger point มีสาเหตุมาจากอะไร ?

A: อาการนี้มักมีสาเหตุจากการผิดปกติ หรือการบาดเจ็บจากตำแหน่งอื่นภายใน ทำให้กล้ามเนื้อด้านนอกรอบๆ เกิดอาการตึงตัวหดเกร็ง คลำได้เป็นก้อน ( #latent trigger point) กดเจ็บ และ ต่อมามีอาการเจ็บได้เอง ( #active trigger point)

เช่น ในคนที่มีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลัง มักจะมีอาการปวดจาก trigger point บริเวณรอบๆ ร่วมด้วย, คนที่มีอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย เช่น เอ็นเข่าอักเสบ บางครั้งก็มี trigger point ที่ต้นขา หรือน่องร่วมด้วย ทำให้บางครั้งเวลาวิ่ง รู้สึกตึงเฉพาะที่ บางครั้งอาจมีอาการคล้ายจะเป็นตะคริว, หรือ การใช้กล้ามเนื้อตำแหน่งเดิมซ้ำๆ ต่อเนื่อง เช่น คนที่ทำงานอยู่ท่าเดิมนานๆ หรือเคยชินกับท่าทางบางอย่างที่เกร็งกล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ต่อเนื่อง หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า office syndrome

Q: อาการที่เกิดจาก Trigger point เป็นอย่างไรบ้าง ?

A: อาการเจ็บนี้ สามารถมีทั้ง #อาการปวดเฉพาะที่ บริเวณที่มีปัญหา ( #localized pain) หรือ #ปวดร้าวไปที่ตำแหน่งอื่น ( #referral pain) เช่น ปวดที่บ่า แล้วร้าวไปที่ศีรษะ หรือ ปวดที่สะโพก แล้วร้าวไปที่ขา บางครั้งอาจมี #อาการชา ร่วมด้วย

Trigger point referral pattern
Trigger point referral pattern

Q: Trigger point อันตรายมั๊ย ?

A: Trigger point เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง ไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง แต่มักมีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน การทำงาน การออกกำลังกายต่างๆ ทำให้คนไข้มักมีความกังวลว่าจะเป็นอะไรที่รุนแรง หรืออันตรายมากๆ

Q: Trigger point รักษาอย่างไร ?

A: การรักษา trigger point มีหลายแบบ ทั้งการใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด ได้แก่ ESWT, laser, ultrasound, PMS หรือ การใช้เข็ม ไม่ว่าจะเป็น dry needling หรือ trigger point injection ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ได้แก่ therapeutic massage การยืดกล้ามเนื้อ รวมถึง การปรับท่าทาง และ การเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ขณะทำงาน

การรักษา trigger point โดยวิธีใดนั้น ขึ้นกับ ระยะที่เป็น ตำแหน่งที่เป็น การพิจารณาของแพทย์ ถึงวิธีการรักษาที่เหมาะกับคนไข้รายนั้นๆ เช่น คนไข้บางรายอาจจะทนเข็มไม่ได้เลยอาจต้องเลือกรักษาโดยวิธีอื่น หรือ คนไข้บางรายอาจจะตอบสนองดีกว่าเมื่อรักษาด้วยเข็ม เป็นต้น ที่สำคัญ #ต้องรักษาที่สาเหตุ ที่ทำให้เกิด trigger point ด้วย จึงจะทำให้อาการดีขึ้นในระยะยาวได้ค่ะ

และอย่าลืมเรื่องที่สำคัญมาก คือ อาการปวดเฉพาะที่ หรือ ร้าวไปที่ตำแหน่งอื่น หรือ อาการชา สามารถเกิดจาก #สาเหตุที่รุนแรงอย่างอื่นได้ เช่น การกดทับเส้นประสาท ดังนั้น จึงควรพบแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัย ถึงสาเหตุของอาการที่แน่นอน เพื่อแยกโรคที่รุนแรงมากกว่า ออกก่อน จึงค่อยรักษาเฉพาะเรื่อง trigger point ค่ะ

ปล. การรักษาด้วยวิธีต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น หมอได้พูดถึงไว้บ้างแล้วในตอนก่อนหน้านี้ ส่วนที่ยังไม่ได้พูดถึงจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้งค่ะ

ติดตามเรื่องราวต่างๆ ได้ใน fb @RehabYourLife หรือ ทาง medium นะคะ

References
image from http://keilimarble.com/blog/2019/1/7/tmj-focus https://wwwdotchkdsportsmeddotcom.wordpress.com/2015/02/05/characteristics-of-a-trigger-point-and-the-physiological-effects-of-dry-needling/ https://musculoskeletalkey.com/trigger-points-as-a-fascia-related-disorder/

Carel Bron & Jan D. Dommerholt, Etiology of Myofascial Trigger Points, Curr Pain Headache Rep (2012) 16:439–444

--

--