อันตราย!!! จากการใส่ส้นสูงนานๆยาวๆ
แน่นอนว่า สาวๆ ทุกคนต้องอยากใส่รองเท้าส้นสูงสวย ๆ ให้ชวนมอง ขาดูเรียวยาวขึ้น แต่การใส่ส้นสูงนานๆ ทั้งวัน ต่อเนื่องเป็นหลายวัน หลายเดือน หลายปี ทำให้เกิดผลที่ตามมาที่ อาจทำให้เราหมดสวย มีอาการปวดหลายๆตำแหน่งในร่างกาย และยังเกิดการผิดรูปที่อาจแก้ไม่ได้ในระยะยาวค่ะ
ผลต่อส่วนต่างๆของร่างกาย เวลาใส่รองเท้าส้นสูงต่อเนื่องนานๆ
- เท้า แน่นอน เท้าเราจะกดไปทางด้านหน้า รับรับน้ำหนักตัวมากขึ้น ทำให้ปวดฝ่าเท้าตรงที่ลงน้ำหนักง่ายขึ้น (Metatarsalgia) หน้าเท้ามักถูกบีบเข้าจากรูปของรองเท้า ทำให้นิ้วเท้าเก (Hallux valgus, Hammer toes) เส้นประสาทเล็กๆ ที่ง่ามนิ้วเท้า กล้ามเนื้อ และข้อต่อในเท้า จะเกร็ง และบาดเจ็บง่าย เนื่องจากการกระจายน้ำหนักที่ไม่ปกตินั่นคือ เราจะปวดเท้า ฝ่าเท้า ส้นเท้าง่าย ในระยะยาวเท้าผิดรูปได้ง่าย
- ข้อเท้า ผลต่อข้อต่อเท้า จากการลงน้ำหนักที่เปลี่ยนไป (ankle joint) การที่เอ็นร้อยหวาย อยู่ในลักษณะที่ตึงและบาดเจ็บง่าย (achilles tendinopathy) นอกจากนี้ ส้นสูง มีที่ให้เราลงน้ำหนักน้อย ข้อเท้ามักจะพลิก หกล้ม บาดเจ็บได้ง่าย (ankle sprain)
- น่อง เท้า กับน่องทำงานเนื่องกัน พอเท้าลงน้ำหนัก เปลี่ยนไป น่องจะตึงและเกร็งได้ง่าย กล้ามเนื้อเป็นปม (trigger point) ปวด ชา หรือเป็นอาการคล้ายตะคริวง่าย กล้ามเนื้อน่องที่หดเกร็งตลอดเวลา ทำให้มีการคั่งค้างการไหลเวียนของเส้นเลือด มีแนวโน้มจะเกิด เส้นเลือดขอดง่าย
- เข่า เกิดการเสียดสี บริเวณผิวข้อต่อ และสะบ้าเข่าได้ง่ายขึ้น มีโอกาสปวดเข่า เข่าเสื่อมง่ายขึ้น
- หลัง ขณะใส่ส้นสูง ร่างกายเรามีแนวโน้มที่จะเอียงไปด้านหน้า ทำให้หลังของเราต้องเกร็ง กระดูกสันหลัง การทำงานของกล้ามเนื้อหลัง การขยับเชิงกราน. มีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ร่างกายสามารถคงลำตัวตรงขณะเดิน ส่งผลให้ปวดหลังง่าย
ต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้างเมื่อจำเป็นต้องใส่ส้นสูง
- พักเท้าบ้าง ใส่รองเท้าเดินสวยๆ แล้ว ก็มีช่วงใส่รองเท้าที่สูงพอดีๆ มีการกระจายน้ำหนักที่ดี เผื่อติดไว้ในที่ทำงาน ขณะนั่งทำงาน ขับรถ หรืออยู่ในบ้าน
- สลับใส่ รองเท้าที่ดีต่อสุขภาพเท้า สูงแต่พอดี โดยทั่วไปไม่เกิน 2 นิ้ว หน้ากว้างพอประมาณ ไม่บีบหน้าเท้า มีพื้นรองเท้าที่กระจายน้ำหนักได้ดี
- แช่น้ำอุ่น กลับบ้านแช่เท้าในน้ำอุ่น บ้าง 15–20 นาที จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น กล้ามเนื้อข้อต่อผ่อนคลาย
- บริหารเท้าและน่อง ยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง ขยับข้อเท้า นิ้วเท้าขึ้นลง
สวย และสุขภาพดี ไม่ยากเลย แค่ดูแลตัวเองเล็กๆน้อยๆ ทุกวันค่ะ
Fb, Blockdit, Medium : Rehab Your Life
Youtube : DrAnnPlanet
ที่มา
Maxwell S Barnish et al., High-heeled shoes and musculoskeletal injuries: a narrative systematic review. BMJ 2016, Jan 13;6(1).
MM Wiedemeijer et al. Effects of high heeled shoes on gait. A review, Gait posture 2018, Mar; 61:423–430.
Ewa Puszczalowska-Lizis et al., Foot deformities in women are associated with wearing high-heeled shoes, Med Sci Monit. 2019 Oct 16;25:7746–7754.