เมื่อปวด ควรประคบร้อนหรือประคบเย็น?
สำหรับอาการปวดกล้ามเนื้อ ข้อ และกระดูก ต่างๆ ที่เราสงสัยว่า ควรจะประคบร้อนหรือเย็นจึงจะดีกว่ากัน เรามีหลักง่ายๆในการเลือกใช้ดังนี้ค่ะ
ผลของความเย็นที่มีต่อบริเวณที่ประคบ
อุณหภูมิที่ลดลงทำให้เนื้อเยื่อ มีความยืดหยุ่นลดลง หลอดเลือดที่มาเลี้ยงหดตัว ความเย็นจึงมีผล “ช่วยห้ามเลือด ลดอาการบวม” เป็นหลัก เราจึงสามารถประคบเย็นเมื่อ …
1. มีอาการบาดเจ็บหรือปวดเฉียบพลัน (acute injury or acute pain)
เช่น นอนตื่นมาตอนเช้า ปวดคอมากเอี้ยวคอไม่ได้, หกล้มข้อเท้าพลิกปวดบวมทันที หรือ อาการปวดที่รุนแรงมากๆ ลักษณะนี้ในช่วงแรก ควรประคบเย็น เพื่อช่วยห้ามเลือด(ที่อาจจะมี)และลดอาการบวม
2. ถ้าปวดมานานแล้ว แต่ช่วงนี้ปวดมากขึ้น (acute on top of chronic inflammation)
ให้สงสัยว่า มีอาการอักเสบเฉียบพลันซ้ำไว้ก่อน ให้ประคบเย็นในช่วงแรกเช่นกันค่ะ
3. มีอาการปวด บวม แดง ร้อน (acute inflammation)
ถ้าบริเวณที่ปวดมีลักษณะเช่นนี้ชัดเจน บ่งบอกถึงอาการอักเสบเฉียบพลัน ให้ประคบเย็นไว้ก่อนค่ะ
4. หลังจากการผ่าตัดกระดูกและข้อ
เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ข้อเข่า การผ่าตัดหลังกระดูกหักต่างๆ มักใช้ความเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวม
ผลของความร้อนที่มีต่อบริเวณที่ประคบ
อุณหภูมิของเนื้อเยื่อที่สูงขึ้น มีผลทำให้หลอดเลือดขยาย เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปที่บริเวณนั้นๆ ทำให้การประคบร้อนไม่เหมาะกับบริเวณที่มีการอักเสบเฉียบพลันใหม่ๆ หรือ มีเลือดออก แต่ดีกับการอักเสบเรื้อรัง ที่สำคัญคือ ความร้อนทำให้ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อดีขึ้น ง่ายต่อการยืดกล้ามเนื้อหรือ ข้อต่อมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เราจึงเห็นการใช้การประคบร้อนประกอบกับการนวดผ่อนคลายบ่อยๆ ดังนั้น เราสามารถประคบร้อนได้ในกรณีต่างๆ ดังนี้ค่ะ
1. มีอาการปวดแบบเรื้อรัง (chronic pain/ inflammation)
เช่น มีปัญหาหมอนรองกระดูก, หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, ปวดกล้ามเนื้อ/เอ็นเรื้อรัง หรือ ข้ออักเสบ ยกเว้น ที่เกิดจาก gout
2. มีลักษณะอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ หรือเอ็น หรือ ข้อติด (muscle/ tendon tightness or joint contracture)
ใช้เมื่อต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ลดอาการข้อติด การประคบร้อนทำให้เนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
3. ปวดจากกล้ามเนื้อจมยึด (trigger point or myofascial pain)
กล้ามเนื้อที่ตึงตัวจนคลำได้เป็นก้อน มีอาการกดเจ็บ ที่ตำแหน่งเดิมๆ (trigger point) มักเกิดร่วมกับบริเวณที่มีการตึงตัวของกล้ามเนื้อ สามารถใช้ความร้อนในการช่วยลดอาการตึงตัวดังกล่าวได้ในเบื้องต้นค่ะ
ทั้งความร้อนและความเย็น ทำให้ “ความทนทานต่อความปวดเพิ่มขึ้น” ทั้งคู่ (increase pain threshold) ดังนั้น ถ้าเป็นความปวดที่เป็นมานาน และไม่มีข้อควรระวังของการใช้ความร้อนหรือความเย็น สามารถเลือกใช้ความร้อนหรือความเย็นในการลดปวดก็ได้ ตามที่เรารู้สึกสบายกว่าค่ะ
ข้อควรระวัง
- ถ้าผิวหนังบริเวณที่จะประคบ มีอาการชาหรือการรับรู้ความรู้สึกผิดปกติ ให้หลีกเลี่ยงการประคบ หรือ คอยตรวจบริเวณดังกล่าวขณะที่ประคบบ่อยๆ เพื่อป้องกันบาดแผลที่ผิวหนัง
- ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถบอกอาการได้ เช่น ศักยภาพของสมองลดลง (impaired cognition) หรือไม่สามารถพูดสื่อสารเพื่อบอกความรู้สึกที่มีต่อการประคบได้ ให้หลีกเลี่ยงการประคบ
- ถ้ามีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เลือดออกง่ายผิดปกติ การไหลเวียนของเลือด หรือ หลอดเลือดผิดปกติ มะเร็ง หรือ ถ้าไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการประคบร้อนหรือเย็น
วิธีการประคบร้อนหรือเย็น
ใช้ระยะเวลาในการประคบประมาณ 20 นาที ควรใช้ผ้าห่อหุ้มวัสดุให้ความร้อนหรือเย็น ไม่ควรวางบนผิวหนังโดยตรง
ถ้าเป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัดอื่นๆ ที่ให้ความร้อนหรือเย็น ควรปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดก่อนทำการรักษา
สรุปว่า
ถ้าต้องการประคบเพื่อ “ลดอาการปวด ห้ามเลือด หรือบาดเจ็บเฉียบพลัน” ให้ประคบเย็น
ถ้าต้องการประคบเพื่อ “ลดอาการปวดเรื้อรัง” ใช้การประคบร้อนหรือเย็นก็ได้ ที่รู้สึกสบายและลดอาการปวดได้มากกว่า
ถ้าต้องการประคบ “เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เอ็น หรือ ข้อต่อ” หรือ “เพื่อผ่อนคลาย” ควรประคบร้อน
ถ้ามีข้อควรระวัง หรือ โรคประจำตัวต่างๆ แล้วไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายบำบัดเพิ่มเติมก่อนทำการประคบนะคะ
Fb : @RehabYourLife