การรักษาโดยการฉีดน้ำตาล (Dextrose Prolotherapy)

Rehab Your Life
2 min readJun 20, 2023

--

หลายๆท่านในที่นี้ อาจเคยประสบปัญหา ภาวะปวดตามตำแหน่งต่างๆ ปวดไหล่ ปวดศอก ปวดเข่า จากปัญหาของภาวะต่างๆของเอ็น ข้อต่อ กล้ามเนื้อ กระดูก (musculoskeletal condition: tendons, ligaments, muscles, bones, joints and soft tissue)

เมื่อไปทำการรักษา เพื่อลดอาการปวดและฟื้นฟูบริเวณที่มีปัญหา หรือ การบาดเจ็บอาจมีทางเลือกการรักษาที่หลากหลาย นอกเหนือจากการกายภาพบำบัด เครื่องมือต่างๆ แล้ว ปัจจุบันหลายๆ ท่านอาจได้ยินเรื่องการฉีดน้ำตาลเพื่อลดปวด (Prolotherapy) มาทำความรู้จักกันค่ะ

Q: การรักษาโดยการฉีดสารละลายน้ำตาลเข้มข้นสูง (Dextrose Prolotherapy) คืออะไร

A: การรักษาโดยการฉีดสารละลายน้ำตาลเข้มข้นสูง (Dextrose Prolotherapy) คือการรักษาอาการปวดเรื้อรังของข้อต่อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ รอบๆเส้นประสาท โดยการใช้สารละลายที่มีส่วนผสมของน้ำตาล (dextrose or glucose) และ น้ำเกลือ (Normal Saline) ฉีดเข้าไปบริเวณที่มีปัญหาจากการอักเสบเรื้อรัง ความเสื่อม หรือกล้ามเนื้อเป็นปม (musculoskeletal conditions) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมฟื้นฟู การลดการอักเสบ จึงนำมาซึ่งการลดอาการปวดเรื้อรังในที่สุด

Q: การรักษาโดยการฉีดสารละลายน้ำตาลเข้มข้นสูง (Dextrose Prolotherapy) ช่วยลดการปวด บาดเจ็บ เสื่อมได้อย่างไร

A: ตามปกติร่างกายจะมีการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการลดการอักเสบ หรือซ่อมแซมความเสื่อม “น้ำตาล”เป็นสารธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่สามารถกระตุ้นกระบวนการซ่อมแซม การลดการอักเสบดังกล่าวในระดับเซลล์ ให้เพิ่มมากขึ้น รวดเร็วขึ้น จึงเป็นการรักษาโดยใช้กลไกของร่างกายซ่อมแซมตนเอง (biological therapy) แบบหนึ่ง

Q: การรักษาโดยการฉีดสารละลายน้ำตาลเข้มข้นสูง (Dextrose Prolotherapy)ใช้ในกรณีใดบ้าง

A: กรณีที่เกิดภาวะต่างๆ ของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ เส้นประสาท เนื้อเยื่อได้แก่

  • เอ็นอักเสบ หรือบาดเจ็บเรื้อรัง (chronic tendinopathy) เช่น ปวดไหล่ (rotator cuff syndrome), ปวดศอก (tennis elbow), ปวดข้อเท้า (achilles tendinopathy), ปวดฝ่าเท้า (plantar fasciopathy)
  • เอ็นเสื่อม (chronic tendinopathy from degenerative cause) คล้ายกับกรณีข้างต้น เพียงแต่มีความเสื่อมของเอ็นร่วมด้วย
  • กล้ามเนื้อตึงเป็นปม (trigger point or myofascial pain syndrome) เช่น กรณีที่พบใน office syndrome คอบ่าหลังก้นปวดตึง
  • ข้อเสื่อม หรืออักเสบ เช่น ที่เชิงกราน (sacroiliac joint dysfunction), เข่าเสื่อม (knee osteoarthritis)
  • เส้นประสาทกดทับ มีอาการชามือ แขนจากการทับของเส้นประสาทแขน (carpal tunnel syndrome, radial nerve entrapment)

Q: การรักษาโดยการฉีดสารละลายน้ำตาลเข้มข้นสูง (Dextrose Prolotherapy) มีอันตราย หรือผลข้างเคียง หรือไม่

A: เนื่องจากสารละลายที่ใช้ในการรักษาโดยการฉีดน้ำตาล ประกอบด้วย (Dextrose หรือ Glucose) ผสมกับ น้ำเกลือ (Normal Saline) ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่โดยธรรมชาติในร่างกาย การรักษาโดยวิธีนี้จึงไม่ได้เป็นการฉีดยา หรือ สารสังเคราะห์ใดๆ เข้าไป ทำให้อันตรายหรือผลข้างเคียงจากสารละลายที่ฉีดน้อยมาก

ผลข้างเคียงที่พบได้ เป็นผลข้างเคียงจากการแทงเข็มฉีดยาในร่างกายที่พบได้ทั่วไปในการฉีดทุกประเภท นั่นคือ เจ็บเข็ม รอยช้ำ อ่อนแรง หรือชาจากยาชา รวมถึง พบอาการปวดระบมจากการกระตุ้นการฟื้นฟูหลังจากฉีดยาได้ 2–3 วัน นานสุดคือ 2 สัปดาห์

ข้อควรระวังในการรักษาโดยวิธีนี้คือ ให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการติดเชื้อ มีเลือดออกผิดปกติ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ สาเหตุของอาการปวดไม่แน่ชัด เช่น gout rheumatoid arthritis

ในกรณีที่เป็นเบาหวาน สามารถรักษาโดยวิธีนี้ได้ เนื่องจากน้ำตาลที่ใช้ถือเป็นปริมาณน้อยมาก และ ไม่ได้ฉีดเข้ากระแสเลือด เป็นการฉีดเข้าเนื้อเยื่อ เอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อระดับน้ำตาล

Q: การรักษาโดยการฉีดสารละลายน้ำตาลเข้มข้นสูง(Dextrose Prolotherapy) เป็นการรักษาที่ได้มาตรฐานหรือไม่

A: ปัจจุบันมีรายงานหลายการรักษาและงานวิจัย และการรักษากับคนไข้จริงในโรงพยาบาลที่พบว่า การรักษาโดยการฉีดน้ำตาลสำหรับภาวะ musculoskeletal ต่างๆได้ผลดี แต่ยังมีบทความเชื่อว่าการรักษาโดยวิธีนี้ มีหลักฐานไม่เพียงพอว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลดี ควรมีการวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติม จึงถือว่า เป็นการรักษาหนึ่งที่เป็นทางเลือกให้คนไข้ ไม่ถือเป็นมาตรฐานสำหรับทุกภาวะ

Q: เหตุใดการรักษาโดยการฉีดน้ำตาลจึงมักใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์เพื่อดูเนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีดร่วมด้วย (Ultrasound guided dextrose injection)

A: เนื่องจากการรักษาด้วยการฉีดน้ำตาล จำเป็นต้องอาศัยความแม่นยำ ในการฉีดสารละลายไปที่บริเวณกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อที่มีปัญหา จึงมักนำเครื่อง ultrasound ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย มาเป็นอุปกรณ์ช่วยในการฉีดยา เพื่อให้ทราบตำแหน่งที่เข็มนำสารละลายฉีดเข้าไป เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

References

Ross A. Hauser et al., A Systematic Review of Dextrose Prolotherapy for Chronic Musculoskeletal Pain, Clin Med Insights Arthritis Musculoskelet Disord. 2016; 9: 139–159.

Vitoonpong T & Tantisiriwat N, A Review of Dextrose Injection Therapy Methods for Neuro-Musculo-Skeletal Pain, J Thai Rehab Med 2018; 28(3)

--

--

Rehab Your Life
Rehab Your Life

Written by Rehab Your Life

Dr.Pranathip Rinkaewkan Rehabilitation Medicine BNH hospital

No responses yet