มารู้จักการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กกัน (magnetic stimulation)
หลายปีที่ผ่านมาการรักษาอาการปวด อักเสบของโรคที่เกียวกับกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นประสาท มีการพัฒนาไปมาก คือ เริ่มตั้งแต่มีการใช้คลื่นเสียง (ultrasound) คลื่นกระแทก (shockwave) คลื่นแสงเลเซอร์ (laser therapy) และปัจจุบันคลื่นแม่เหล็กก็มีการพัฒนา นำมาใช้ในการรักษา ไม่ใช้เพียงการตรวจวินิจฉัย (MRI) เพียงอย่างเดียว แต่ถูกพัฒนามาใช้ในการรักษาด้วย เรียกว่าการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็ก ได้แก่ transcranial magnetic stimulation (TMS) และ peripheral magnetic stimulation (PMS)
คลื่นแม่เหล็กทำงานอย่างไรกับเนื้อเยื่อร่างกาย?
คลื่นแม่เหล็กมีผลต่อประจุของเนื้อเยื่อในร่างกาย ผลจากการเปลี่ยนแปลงประจุนั้นมีผลโดยตรงต่อเซลล์และเส้นประสาท (neuron) และการสื่อประสาท ทำให้โครงสร้างต่างๆ ที่เส้นประสาทไปเลี้ยงเกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ตัวเส้นประสาทเอง เซลล์ประสาทและเซลล์ข้างเคียง หลอดเลือด กล้ามเนื้อ เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน การซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดการสร้างโครงประสาท (neuroplasticity) ขึ้นใหม่ รวมถึงการฟื้นฟูการทำงานของเนื้อเยื่อโครงสร้างต่างๆ (regeneration)
ใช้รักษาในกรณีใดบ้าง?
เพื่อฟื้นฟูการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด ชา เกร็งจากสาเหตุต่อไปนี้
โรคกลุ่มระบบประสาท โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต การบาดเจ็บของไขสันหลัง ที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง (hemiplegia, paraplegia) เกร็ง (spasticity) หรือ ชา (sensory impairment)
โรคที่เกียวกับโครงสร้างกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการเบียดทับเส้นประสาท (radiculopathy, sciatica)
โรคกลุ่มกล้ามเนื้อและกระดูกอื่นๆ ที่ได้รับการบาดเจ็บ (musculoskeletal pain or injury)
โรคที่มีอาการชา หรือปวดจากเส้นประสาท เช่น diabetic neuropathy , neuropathic pain จากสาเหตุอื่นๆ
จุดเด่นของการรักษาโดยคลื่นแม่เหล็ก
ในกรณีที่ปวดจากเส้นประสาทกดทับ หรือจากปัญหาของระบบประสาทโดยตรง (neuropathic pain & symptoms) มักเห็นผลชัดเจนของการลดปวดได้ตั้งแต่ครั้งแรกของการรักษา และการรักษาต่อเนื่อง ทำให้อาการดีขึ้นลดปวดได้ผลดีมาก
อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขาจาก อัมพฤกษ์ อัมพาต (hemiplegia, paralysis) ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือ ภาวะไขสันหลังบาดเจ็บ (spinal cord injury) รวมถึงอาการชาต่างๆ ได้ผลดีมาก แต่ต้องรักษาต่อเนื่อง ใช้เวลา และจำเป็นต้องควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด ได้แก่การออกกำลังกาย (therapeutic exercise) และการฝึกยืนเดิน (functional training) จึงจะทำให้เกิดการฟื้นฟูได้ดีที่สุด
มีข้อควรระวัง หรือผลข้างเคียงหรือไม่?
ผลข้างเคียงน้อยมาก ไม่เจ็บขณะทำการรักษา หลังการรักษาบางราย อาจมีอาการอ่อนล้าของกลามเนื้อเล็กน้อย แต่จะหายไปได้เอง (fatigueness)
หลีกเลี่ยงการรักษาในคนที่มี cardiac pacemaker และในรายที่เคยมีอาการชัก ควรแจ้งแพทย์ก่อนการรักษาทุกครั้ง ขณะทำการรักษาควรวางอุปกรณ์ electronic เช่น มือถือ ให้อยู่ห่างจากตำแหน่งที่ทำการรักษา เนื่องจากอาจรบกวนการทำงานของอุปกรณ์ได้
References
Napatpaphan Kanjanapanang et al., Peripheral Magnetic Stimulation, In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2020 Jan.
Teresa Paolucci et al., Electromagnetic Field Therapy: A Rehabilitative Perspective in the Management of Musculoskeletal Pain – A Systematic Review, J Pain Res. 2020 Jun 12;13:1385–1400.
ผู้เขียนขอขอบพระคุณอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่าน สำหรับภาพประกอบ และเนื้อหาความรู้เพิ่มเติมค่ะ Dr.Pannawish Wongwiwattananon, MD, PMR. Sukumvit Hospital และ Dr.Somros Phonglamai, MD, Bangkok-Pattaya Hospital
fb : Rehab Your Life, Youtube : DrAnnPlanet